Pre-Departure to the USA เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทางไปเรียนประเทศสหรัฐอเมริกา
Check list สิ่งที่ไม่ควรลืมตอนแพ็คกระเป๋า
- พาสปอร์ตเล่มจริง
- เอกสาร I-20 หรือ offer letter ฉบับจริง
- ตั๋วเครื่องบิน
- รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ
- เสื้อผ้า (เตรียมให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของรัฐที่จะไป)
- แว่นกันแดด แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ น้ำยาล้างเลนส์
- Adapter หัวต่อปลั๊กไฟ
- ร่มพับ
- ปากกาและสมุดจดบันทึก
- ยาประจำตัว (ต้องมีใบกำกับยาจากแพทย์)
- เครื่องสำอาง
- คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค และที่ชาร์จแบต
กระเป๋าเดินทาง: โดยปกติแล้วสายการบินจะอนุญาตให้นำกระเป๋าเดินทางบรรจุสิ่งของไปได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อใบ ในชั้นธรรมดา (ECONOMY CLASS) และไม่เกิน 30 กิโลกรัมในชั้นเฟิร์สคลาส (FIRST CLASS) ทั้งนี้สามารถแบ่งของเป็นสองกระเป๋าหรือจะนำไปแค่ใบเดียวก็ได้
หากต้องการใส่กุญแจล๊อกกระเป๋าเดินทางเพื่อป้องกันสิ่งของสูญหาย ควรใช้กุญแจล็อคที่ได้อนุมัติจาก TSA เพราะในบางกรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบินอาจมีการสุ่มเปิดกระเป๋าเพื่อตรวจค้นวัตถุระเบิดหรือสิ่งของผิดกฎหมาย ซึ่งกุญแจของ TSA ได้ถูกออกแบบมาให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นได้โดยไม่ต้องพังกุญแจนั้นเอง
กระเป๋าสะพาย (Carry on): คือกระเป๋าถือติดตัวขึ้นไปบนเครื่อง ซึ่งควรจะใส่ของมีค่าต่างๆ อาทิ กระเป๋าเงิน, คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค, โทรศัพท์มือถือ และเอกสารสำคัญต่างๆ อาทิ พาสปอร์ตเล่มจริง, Offer Letter และ I-20 ฉบับจริง เพราะเอกสารเหล่านี้จะต้องนำมาแสดงที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
แว่นสายตา: สำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา ควรนำแว่นตาพกติดตัวไปด้วย 2 อัน เพราะหากการไปตัดแว่นใหม่ที่สหรัฐอเมริกา ท่านต้องนัดคิวกับจักษุแพทย์ ซึ่งระยะเวลาการนัด การตรวจวัด และรอตัดแว่นใหม่นั้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน และราคาสูงกว่าเมืองไทยมาก ส่วนคนที่ใช้คอนแทคเลนส์ ก็ต้องเตรียมไปให้เพียงพอ พร้อมน้ำยาล้างเลนส์ เพราะน้ำยาล้างเลนส์ที่อเมริกานั้นแพงกว่าในไทยหลายเท่า
เสื้อผ้า: ควรเช็คพยากรณ์อากาศเพื่อเตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของเมืองนั้นๆ ก่อนไป เพราะโดยปกติแล้วอเมริกาจะมี 4 ฤดู อุณหภูมิในแต่ละรัฐก็จะแตกต่างกันออกไป
-ฤดูใบไม้ผลิ เริ่ม มีนาคม-พฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 9-23 องศาเซลเซียส
-ฤดูร้อน เริ่ม มิถุนายน-สิงหาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 20-34 องศาเซลเซียส
-ฤดูใบไม้ร่วง เริ่ม กันยายน-พฤศจิกายน อุณหภูมิเฉลี่ย 7-25 องศาเซลเซียส
-ฤดูหนาว เริ่ม ธันวาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย -12 ถึง -8 องศาเซลเซียส
โดยในหนึ่งปีการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หน้าหนาวต้องเผชิญกับอุณหภูมิติดลบจึงต้องเตรียมเสื้อกันหนาวไปให้เพียงพอ
รองเท้า: ควรเลือกรองเท้าที่ใส่สบายเหมาะกับการเดินในระยะทางไกลๆ เพราะการใช้ชีวิตในประเทศอเมริกามักจะเดินเท้า รองเท้าผ้าใบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
ยาประจำตัว: ยาที่ต้องใช้ประจำ หรือ ยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็น โดยจะต้องมีฉลากกำกับยาเป็นภาษาอังกฤษที่สามารถอ่านได้ชัดเจนว่าเป็นยาประเภทใด
Adapter: เพื่อเปลี่ยนหัวช่องปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำมาจากประเทศไทยให้เข้ากับช่องปลั๊กไฟที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัว Adapter ต้องเป็นแบบขาแบนเท่านั้น (ปัจจุบันในท้องตลาดมี Adapter แบบที่ใช้ได้กับทั่วโลก) สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำมาจากประเทศไทย เช่น ไดร์เป่าผม เครื่องหนีบผม หากนำมาใช้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีความแรงไฟลดลง เนื่องจากความแรงไฟจะต่ำกว่าที่ประเทศไทย สามารถมาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อเมริกาเพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ ส่วนพวกสายชาร์จต่างๆ ส่วนมากจะสามารถใช้กับไฟได้ทั่วโลก จึงสามารถใช้กับกระแสไฟที่อเมริกาได้เลยโดยไม่ต้องแปลงไฟก่อน
อาหาร: การนำเอาอาหารสด เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ เข้าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้าคุณมีผลไม้หรือขนมติดกระเป๋า ก็ต้องตัดใจทิ้งก่อนขึ้นเครื่องทันที หรือถ้าจะนำอาหาร ขนมเข้าก็ต้องผ่านการ declare มาถึงจะผ่านได้
การตรวจสภาพช่องปากและฟัน: นักเรียนควรไปตรวจฟันก่อนการเดินทางเนื่องจากประกันสุขภาพนักศึกษาไม่ได้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายทางทันตกรรม ซึ่งค่าทำฟันที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ
พกเงินสดไปเท่าไหร่ดี? นักเรียนควรมีเงินสดติดตัวไว้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันช่วงเดือนแรกเพื่อความสะดวกของตัวเราเอง ที่อเมริกาจะมีวัฒนธรรมการให้ทิป (TIP) ในการไปใช้บริการในร้านอาหาร เงินสดบางส่วนจะต้องนำไปจ่ายค่าที่พัก หรือ ค่ารถรับส่งสนามบิน แต่การพกเงินสดติดตัวไปก็อาจจะไม่ปลอดภัย นักเรียนจึงควรแบ่งเงินสดเก็บไว้หลายๆที่ และควรรีบไปเปิดบัญชีธนาคารในช่วงแรกที่ไปถึง อย่างไรก็ตามเงินสดที่พกติดตัวไปจะต้องไม่เกิน US$10,000 ดอลลาร์ เท่านั้น
ระบบโทรศัพท์: แบ่งแยกตามท้องถิ่นที่ / เมืองและภาคโดยมี AREA CODE ซึ่งเป็นเลขรหัส 3 หลักเฉพาะของเมืองหรือภาคนั้น นอกเหนือจากเลขหมายโทรศัพท์ 7 หลักเช่นเดียวกับประเทศไทย ถ้าโทรศัพท์ภายในท้องที่ใช้ AREA CODE เดียวกันไม่ต้องหมุนรหัสทางไกล หากโทรศัพท์ต่างท้องที่ AREA CODE ต่างกัน ต้องหมุนรหัสทางไกลด้วยทุกครั้ง การใช้โทรศัพท์สาธารณะจะมีคำแนะนำติดอยู่กับโทรศัพท์ทุกเครื่อง มีหลายประเภท เช่น เครื่องใช้เหรียญ เครื่องใช้บัตรโทรศัพท์ โดยสามารถโทรได้ทั้งภายในและต่างประเทศ รายละเอียดและวิธีการใช้โทรศัพท์ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากสมุดโทรศัพท์ของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งบริการ Roaming ของโทรศัพท์มือถือในอเมริกาแพงมาก การซื้อซิมการ์ดภายในประเทศมาใช้ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวจะถูกกว่าและมีบริการอินเตอร์เน็ตฟรี
การรับและส่งไปรษณีย์: ในสถานศึกษาบางแห่งจะมีที่ทำการไปรษณีย์อยู่ภายในสถานศึกษาหรืออาจอยู่ใกล้ๆ กับสถานที่ศึกษา ซึ่งสามารถไปใช้บริการได้ ไปรษณีย์ในต่างประเทศจะทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน จันทร์-เสาร์ หยุดวันอาทิตย์ ในการส่งจดหมายหรือเอกสารต่างๆ สามารถนำไปติดแสตมป์และส่งเอกสารได้โดยจะมีเจ้าหน้าที่การไปรษณีย์ โดยเสียค่าเช่าเป็นรายปีหรือราย 3 เดือน/6 เดือนก็ได้ บริการด้านไปรษณีย์มีหลากหลายประเภท เช่น
-First Class Mail ซึ่งขนส่งทางอากาศ
-Certified Mail ไปรษณีย์รับรอง
-Registered Mail ไปรษณีย์ลงทะเบียน
-Special Delivery ไปรษณีย์จัดส่ง
-Express Mail ไปรษณีย์ด่วน เป็นต้น
และสามารถส่งเงินระหว่างประเทศทางไปรษณีย์ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากที่ทำการส่งพัสดุนั้น เมื่อมีการย้ายที่อยู่ใหม่ ก็สามารถแจ้งได้ที่ทำการไปรษณีย์เพื่อขอให้นำจดหมายที่ส่งมาถึงที่อยู่ตามไปที่อยู่ใหม่
Check in ขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ
1. เช็คจากจอมอนิเตอร์ว่าสายการบินของท่านต้อง Check-in ที่เคาน์เตอร์ใด เมื่อเช็คอินแล้ว ท่านจะได้รับ Boarding Pass และ Luggage Tag ตามจำนวนกระเป๋าที่โหลดไว้ และต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่าการใช้บริการสนามบินในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาจะไม่ประกาศเวลาเครื่องออกบ่อยๆ แบบบ้านเรา และสำหรับการเดิน ทางภายในประเทศนั้น อาจไม่มีประกาศเลยด้วยซ้ำ ต้องเช็คตารางการเดินทางจากจอมอนิเตอร์เท่านั้น
2. ควรเดินเข้าเพื่อตรวจพาสปอร์ตขาออกที่กองตรวจคนเข้าเมือง Passport Control ก่อนเวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เผื่อเวลาเดินเข้า Gate ในกรณีที่ Gate อยู่ไกล

